เจาะลึก! ใบรับรองช่างเชื่อมคืออะไร?

เพราะระบบงานเชื่อมจำเป็นต้องใช้ผู้มีความเชี่ยวชาญ และทักษะเฉพาะทางในการดำเนินงาน เพื่อความปลอดภัยและคุณภาพที่ได้มาตรฐาน ดังนั้นผู้ที่ปฏิบัติงานในสาขาอาชีพช่างเชื่อม  จึงมีความจำเป็นต้องมีใบรับรองความรู้ความสามารถ หรือที่เรียกกันอย่างคุ้นหูว่า ใบรับรอง (Certificate)  เพื่อเป็นการการันตีระดับความสามารถของช่างเชื่อมว่าสามารถปฏิบัติงานได้ในระดับใด ตามมาตรฐานการควบคุมระบบงานเชื่อมหรือไม่  อีกทั้งใบรับรองยังมีผลต่อค่าแรงงานตามมาตรฐานงานเชื่อมแต่ละชนิดตามความยากง่ายของแต่ละกระบวนการเชื่อมอีกด้วย เนื่องจากตามกฎของกระทรวงแรงงานฯ ได้กำหนดให้ผู้ที่ทำการสอบยกระดับผ่านเกณฑ์ในแต่ละระดับสามารถกำหนดค่าตอบแทนให้ชัดเจนได้ โดยทางผู้จัดจ้างจะต้องจ่ายค่าตอบแทนตามระเบียบและเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ซึ่งส่วนนี้ค่อนข้างเป็นผลดีต่อผู้ที่ประกอบสายอาชีพช่างเชื่อม ใบรับรองจึงสมควรเป็นใบรับรองที่ช่างเชื่อมควรมีติดตัว ถึงแม้ในปัจจุบันแต่ละโรงงานจะมีการจัดสอบวัดระดับความสามารถขึ้นเองอีกครั้ง แต่การมีใบรับรองช่างเชื่อมติดตัวก็เปรียบเหมือนการสร้างโปรไฟล์ที่ดีในระดับหนึ่งที่ช่วยรับรองความสามารถของตัวช่างเชื่อมเองได้ในยามยื่นสมัครงาน โดยการจะได้มาซึ่งใบรับรองช่างเชื่อมนั้น มีทั้งในรูปแบบของการสอบและอบรม ซึ่งในแต่ละประเภทนั้นก็มีความสามารถในการใช้งานและรายละเอียดที่แตกต่างกันไป

อย่างใบรับรองมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาตินั้น ก็ได้มีการกำหนดการทดสอบความสามารถและยกระดับมาตรฐานฝีมือแรงงานในประเทศไทยขึ้นเพื่อการกำหนดค่าแรงงานแต่ละประเภท และให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลด้วย


เกณฑ์พิจารณาความสามารถของช่างเชื่อมที่ถูกแบ่งการวัดระดับเป็นแต่ละสาขา ได้แก่ สาขาช่างเชื่อมอาร์กโลหะด้วยมือ, สาขาช่างเชื่อมแม็ก (เหล็กบาง), สาขาช่างเชื่อมแม็ก (เหล็กหนา) และสาขาช่างเชื่อมทิก (เหล็กและสแตนเลส) โดยแต่ละสาขาได้ถูกจัดความสามารถเป็นอีก 3 ระดับให้เลือกทดสอบ  ซึ่งระดับของการทดสอบ คือส่วนสำคัญที่สามารถเป็นตัวกำหนดค่าแรงของช่างเชื่อมได้ ได้แก่

  • ระดับ 1 เป็นการเชื่อมต่อตัวที ท่า PB/2F,PF/3F,PD/4F,PK/5F
  • ระดับ 2 เป็นการเชื่อมแผ่นต่อชน ท่า PA/1G,PC/2G,PF/3G,PE/4G
  • ระดับ 3 เป็นการเชื่อมท่อต่อชน ท่า PH/5G,H-L045/6G

หากถามว่าแล้วจะเลือกสอบระดับไหนดี? ท่าไหน? หรือวัสดุแบบไหน? ถึงจะเป็นที่ยอมรับของผู้ว่าจ้าง อาจตอบได้อย่างคร่าวๆ ว่าเลือกตามท่าและวัสดุที่ผู้ว่าจ้างหรือบริษัทนั้นต้องการ แต่หากต้องการเล็งไปในเรื่องของการยกระดับค่าแรงของตนเองอาจเลือกเป็นท่าที่มีความนิยมอย่าง ท่า 2G หรือ 3G และท่าที่มีความยากอย่างท่า 6G เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตามท่าต่างๆ ยังขึ้นอยู่กับวัสดุในการเชื่อมด้วย

ในส่วนของรายละเอียดในการสอบนั้นแต่ละระดับก็จะมีการดำเนินการทดสอบทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ ตามระดับที่ต้องการสอบ ผู้ที่ผ่านการทดสอบทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ด้วยเกณฑ์ผ่านร้อยละ 70 จะได้รับใบรับรองจากทางคณะกรรมการส่งเสริมพัฒนาฝีมือแรงงาน ซึ่งเป็นใบรับรองที่ได้รับการยอมรับในระดับประเทศไทย


สำหรับใบรับรองที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ด้วยการทดสอบมาตรฐานของสมาคมการเชื่อมแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา AWS D10.9 (American Welding Society) ที่เป็นสมาคมการเชื่อมที่ได้รับการยอมรับไปทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศไทย ซึ่งมีการกำหนดแบ่งระดับความสามารถของการเชื่อมเป็น 3 ระดับ ได้แก่

  • (AR – 1) Aeceptance Requirement 1
  • (AR – 2) Aeceptance Requirement 2
  • (AR – 3) Aeceptance Requirement 3

และมาตรฐานการเชื่อมตามตำแหน่ง ท่า และวัสดุ ดังนี้

  • การเชื่อมโลหะแผ่นโดยรอยต่อชนบากงาน แบ่งเป็น 4 ประเภท ได้แก่ 1G (ท่าราบ) / 2G (ท่าขนาน) / 3G (ท่าตั้ง) / 4G (ท่าเหนือศีรษะ)
  • การเชื่อมท่อรอบต่อชนบากงาน แบ่งเป็น 5 ประเภท ได้แก่ 1G / 2G / 5G / 6G / 9GR
  • การเชื่อมต่อโลหะแผ่นโดยใช้รอยต่อฉาก แบ่งเป็น 4 ประเภท ได้แก่ 1F (ท่าราบ) / 2F (ท่าขนาน) / 3F (ท่าตั้ง) / 4F (ท่าเหนือศีรษะ)

โดยผู้ที่สนใจสอบใบรับรองประเภทนี้มักจะเป็น ผู้ที่ต้องการทำงานเกี่ยวข้องกับการเตรียม WPS, PQR, และ WQT อย่างเช่น วิศวกรงานเชื่อม, วิศวกรโครงการ, หัวหน้าช่างเชื่อม และผู้ที่สนใจในการเตรียมเอกสารเหล่านี้ เป็นต้น อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเป็นใบรับรองประเภทไหน แน่นอนว่าใบรับรองเหล่านี้เปรียบได้กับใบเบิกทางอีกหนึ่งใบ สำหรับการยื่นสมัครงาน การกำหนดค่าแรง รวมถึงโอกาสความก้าวหน้าในหน้าที่การงานที่อาจได้รับงานถึงในระดับนานาชาติ ใบรับรองช่างเชื่อมจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ช่างเชื่อมทุกคนควรมีและไม่ควรมองข้าม