การวาง H-Beam คนละทิศทางมีผลต่อการรับแรงหรือไม่?

เมื่อกล่าวถึงเหล็กรูปพรรณรีดร้อน H-Beam หรือเหล็กที่มีหน้าตัดเป็นรูป “H” ตามการเรียกชื่อ ซึ่งเป็นที่คุ้นตาในวงการก่อสร้างกับการนำมาใช้เป็นรูปแบบของโครงสร้างเสา คาน รวมถึงโครงสร้างหลังคา มีขนาดหน้าตัดให้เลือกใช้ที่หลากหลายขนาดจึงทำให้นำไปใช้กับโครงสร้างอื่นๆ ที่หลากหลายตามไปด้วย

รูปร่างของเหล็กรูปพรรณรีดร้อน H-Beam หากวางเหล็ก H-Beam  ในลักษณะเป็นตัวอักษร “I” พิมพ์ใหญ่ จะมี 2 ส่วนดังนี้

  1. ส่วนปีก (Flange) เป็นแผ่นแนวราบ ที่ด้านบน และด้านล่าง ของ H-Beam
  2. ส่วนเอว (Web) เป็นแผ่นแนวตั้งที่อยู่ระหว่างส่วนปีก (Flange) ด้านบนและด้านล่าง

ซึ่งในทางวิศวกรรม ส่วนปีก (Flange) จะมีผลต่อการรับน้ำหนักของ H-Beam เป็นหลัก ดังจะเห็นได้ว่า ในองค์อาคารรับแรงดัดหรือคาน มักจะวางตัว H-Beam ในลักษณะเป็นตัวอักษร I พิมพ์ใหญ่ เพราะส่วนปีก (Flange) ที่อยู่ในแนวราบวางตัวอยู่ด้านบนและด้านล่าง จะต้านทานการโก่งดัดได้ดีกว่า การวางตัว H-Beam ในลักษณะเป็นตัวอักษร H พิมพ์ใหญ่ เมื่อมีแรงหรือน้ำหนักมากระทำกับผิวบนสุดของ H-Beam อีกทั้งยังง่ายต่อการทำงาน ซึ่งเป็นทิศทางการวางของคานที่นิยมกันอยู่แล้วและมักไม่น่าเป็นห่วง เพราะไม่ค่อยมีผู้ใดวางผิดรูปแบบนัก

จากหลักการวางตัวเหล็ก H-Beam ในคาน วิศวกรก็นำหลักการเดียวกันมาใช้ในเสาด้วย โดยทั่วไปวิศวกรจะวิเคราะห์ รูปทรงของอาคารว่าแกนใด มีความบาง หรือชะลูดมากกว่า ก็จะวางเสาเหล็ก H-Beam ในลักษณะเป็นตัวอักษร I พิมพ์ใหญ่ ตั้งฉากให้ต้านทานความบางของอาคารในแนวนั้น เพื่อลดการแกว่งตัวในแนวที่บางกว่าของอาคารอย่างไรก็ตามในแง่ของรูปแบบทางสถาปัตยกรรม และความสวยงามของการวางแปลนจึงทำให้สถาปนิกมักเลือกวาง H-Beam ตามรูปแบบที่ได้ออกแบบไว้ตามต้องการได้ ซึ่งอาจจะต้องปรึกษาวิศวกรโครงสร้าง ในกรณีที่อาคารมีด้านไหนใดด้านหนึ่งบางและชะลูดเป็นพิเศษ