การเก็บกองเหล็กที่หน่วยงานก่อสร้างควรเป็นอย่างไร

ในหน่วยงานก่อสร้างนั้นหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีวัสดุวางตามจุดต่างๆ เพื่อเตรียมการก่อสร้างซึ่งมีทั้งวัสดุที่กำลังรอนำไปใช้และวัสดุที่เหลือเพื่อรอนำไปทิ้ง ทำให้การจัดการพื้นที่เก็บวัสดุมีสำคัญ โดยเฉพาะเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อนซึ่งเป็นหนึ่งในวัสดุที่มีความสำคัญกับโครงสร้างของอาคาร จึงควรมีการบริหารการจัดเก็บที่ดีพอสมควร แต่ก็ไม่ได้เป็นวิธีที่ยุ่งยากเกินไปทั้งนี้เพื่อให้เหล็กดังกล่าวอยู่ในสภาพดีพร้อมใช้งาน


1. การเตรียมพื้นที่จัดเก็บ

สำหรับโครงการขนาดใหญ่ที่เลือกใช้เหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อนในโครงการนั้นๆ และมีปริมาณที่มาก จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเตรียมพื้นที่จัดเก็บทั้งก่อนใช้งานและเหล็กที่เหลือจากการใช้งาน โดยสามารทำโรงเก็บแบบชั่วคราวไว้ในพื้นที่โครงการ โดยทำการเทพื้นคอนกรีตชั่วคราวหนาประมาณ 15 – 20 ซม. และควรมีวัสดุเช่นไม้หมอน หรือ เศษเหล็กที่เหลือจากการใช้งาน มาทำการรองไว้ด้านล่างของกองเหล็กดังกล่าว เพื่อหลีกเลี่ยงให้เหล็กสัมผัสความชื้นจากพื้นดินซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเกิดสนิม


2. ทาสีกันสนิม

มีหลายกรณีที่ผู้รับเหมาเลือกที่จะนำเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อนมาทาสีที่หน่วยงานก่อสร้างเอง ซึ่งวิธีนี้หากงานก่อสร้างที่กินเวลายาวนานหรือก่อสร้างในช่วงฤดูฝนจะทำให้เหล็กนั้นๆ มีโอกาสที่จะเกิดสนิมขึ้นแทบจะ 100% ดังนั้นควรทาหรือพ่นสีกันสนิมตั้งแต่เหล็กดังกล่าวมาถึงหน่วยงานก่อสร้าง หรือเลือกวิธีสั่งเหล็กที่มีการทาหรือพ่นกันสนิมมาจากโรงงานของผู้ผลิต ซึ่งจะช่วยรักษาสภาพของเหล็กให้อยู่ในสภาพดีพร้อมใช้งาน ทั้งยังเพิ่มความมั่นใจให้เจ้าของโครงการมากยิ่งขึ้นอีกด้วย


3. การจัดเก็บให้ถูกประเภท

ในบางโครงการนั้น ผู้ออกแบบวิศวกรมีการเลือกใช้เหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อนทั้ง 2 เกรด คือ SS400 และ SM520 ซึ่งในด้านต้นทุนค่าก่อสร้างนั้น ในบางโครงการสามารถช่วยให้ประหยัดต้นทุนงานโครงสร้างได้ถึง 20% แต่การจัดเก็บเหล็กทั้ง 2 เกรด ควรแยกให้ชัดเจนไม่นำมาวางกองรวมกัน หากวางใกล้กันควรมีป้ายหรือสัญลักษณ์บอกอย่างชัดเจน ทั้งนี้เพื่อความสะดวกในการเลือกไปใช้งานตามแบบที่กำหนดมา


4. พื้นที่จัดเก็บสำหรับโครงการขนาดเล็ก

สำหรับโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่มักทำโรงเก็บแบบชั่วคราวอยู่แล้ว ส่วนในกรณีโครงการขนาดเหล็ก การสร้างโรงเก็บแบบชั่วคราวอาจทำให้งบประมาณบานปลายเกินความจำเป็น สามารแก้ปัญหาได้ด้วยการแบ่งพื้นที่ขนาดเล็กเอาไว้แล้วปูด้วยผ้าใบหรือพลาสติกบนพื้น แทนการเทพื้นคอนกรีตเพื่อกันความชื้นจากดิน จากนั้นจึงนำไม้หมอน หรือเศษเหล็กที่เหลือจากการใช้งาน มาทำการรองไว้ด้านล่างของกองเหล็กดังกล่าวและปิดคลุมด้วยพลาสติกอีกทีนึง เผื่อกรณีฝนตกและกันน้ำค้างในตอนเช้า เพียงเท่านี้โครงการขนาดเล็กก็สามารถมีที่เก็บเหล็กและป้องกันเหล็กจากสนิมได้โดยไม่ยุ่งยากแล้ว