รู้หรือไม่? เพราะเหตุใดอาคารในเขตแผ่นดินไหวจึงนิยมใช้โครงสร้างเหล็ก

ปัจจุบัน ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยพิบัติแผ่นดินไหวอยู่หลายเหตุการณ์ ทั้งที่เกิดจากประเทศเพื่อนบ้าน และเกิดขึ้นในประเทศเอง  แน่นอนว่าเราไม่สามารถคาดการณ์เหตุการณ์ล่วงหน้าได้ แต่การรับมือที่ดี  จึงเป็นการเตรียมความพร้อมอย่างถูกต้องและเหมาะสม “เพื่อกันไว้ดีกว่าแก้”

การรับมือต่อภัยพิบัติ เป็นการนำทั้งทฤษฎี และบทเรียนจากเหตุการณ์ มาคิดหาทางออกด้วยการตั้งคำถามว่า อะไรเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการวิบัติของตัวอาคาร จนนำไปสู่แนวทางที่ว่าจะทำอย่างไร ถึงจะสามารถป้องกันอาคารไม่ให้พังถล่มลงมาจนเกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้ โครงสร้างเหล็กจึงเป็นคำตอบที่ดีที่สุด ดัง 3 เหตุผลต่อไปนี้


โครงสร้างต้องได้มาตรฐาน 

เพราะโครงสร้างเหล็กเป็นโครงสร้างที่แข็งแรง มีความแม่นยำ และเกิดการผิดพลาดในงานก่อสร้างได้ในเปอร์เซ็นต์ที่น้อยกว่าโครงสร้างอื่นๆ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกนักที่มักจะถูกนำมาใช้ในงานก่อสร้างที่มีความเสี่ยงต่อภัยพิบัติอยู่เสมอ โดยเฉพาะเหล็กรูปพรรณรีดร้อนที่สามารถรับแรงได้ดี อีกทั้งยังผ่านการควบคุมการผลิตจากโรงงานที่ได้มาตรฐานอุตสหกรรมรับรอง จึงมั่นใจได้ว่าโครงสร้างที่นำไปใช้จะได้คุณภาพและประสิทธิภาพที่แข็งแรงคงทน โดยไม่ต้องกังวลเรื่องของมาตรฐานการก่อสร้างจากหน้างานรูปแบบเดิมๆ ที่ต้องขึ้นไม้แบบ หล่อคอนกรีต ผูกเหล็กเสริม ไปจนถึงการเทปูน ที่ฝีมือแรงงานอาจปฏิบัติงานไม่ได้ตามคุณภาพที่เหมาะสม


ยืดหยุ่นและรับแรงสั่นสะเทือนได้ดี 

อย่างไรก็ดี แม้แผ่นดินไหวจะเป็นแรงสั่นสะเทือนหรือแรงกระทำต่อโครงสร้างจากด้านข้าง แต่ด้วยคุณสมบัติของโครงสร้างเหล็กกล้ากำลังสูงที่สามารถยืดหยุ่นได้ดีและทนต่อแรงสั่นสะเทือน จึงทำให้สามารถช่วยพยุงน้ำหนักและโครงสร้างของอาคารไว้ได้ดีกว่าวัสดุอื่นๆ ซึ่งตำแหน่งที่นิยมนำเหล็กรูปพรรณรีดร้อนเข้าไปเสริมกำลัง คือ ตำแหน่งคาน และเสาเพื่อถ่ายโมเมนต์อันเกิดจากแรงด้านข้าง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบโครงข้อแข็งรับโมเมนต์ MRF (Moment Resisting Frame)


ช่วยลดความเสี่ยงการแยกออกจากกันของโครงสร้าง 

การหลุดแยกออกจากกันระหว่างชิ้นส่วนอาคาร นับเป็นอีกหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้อาคารโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก ถล่มลงมาได้อย่างรวดเร็วเมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหว ไม่ว่าจะเป็นคานหลุดแยกจากเสา พื้นหลุดแยกจากคาน ซึ่งล้วนเกิดจากการใส่เหล็กเส้นยึดระหว่างชิ้นส่วนต่างๆ ไม่เพียงพอหรือมีระยะเสริมเหล็กเส้นที่น้อยเกินไป จึงทำให้คานและเสาหลุดออกจากกันได้ง่ายส่งผลให้โครงสร้างถล่มเสียหาย หากเป็นโครงสร้างเหล็กรูปพรรณรีดร้อนทั้งหลัง รูปแบบการเชื่อม หรือ Bolt and Nut ของโครงสร้างเหล็กจะสามารถตอบโจทย์ประเด็นนี้ได้เป็นอย่างดี เพราะในการออกแบบก่อสร้างโครงสร้างเหล็กนั้น ส่วนของจุดต่อต่างๆ จะต้องถูกออกแบบให้แข็งแรงที่สุดเสมอ ช่วยให้เมื่อเกิดการสั่นสะเทือนตัวโครงสร้างก็ยังคงเป็นหนึ่งเดียวกันอยู่


อ้างอิง