เทคนิคจบรอยต่อ “ผนังก่ออิฐกับเสาเหล็ก” ในงานก่อสร้าง

นอกจากเหล็กจะตอบโจทย์ในงานโครงสร้างที่ให้ความสวยงามลงตัวแล้ว ความรวดเร็วในงานโครงการเหล็กมาจากการที่สร้างง่าย ด้วยขั้นตอนการก่อสร้างที่ไม่ได้ยุ่งยากเมื่อเปรียบเทียบกับงานก่อสร้างด้วยโครงสร้างวัสดุอื่นๆ เช่น โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก สิ่งสำคัญคือต้องเข้าใจการเลือกเสริมโครงสร้างที่เหมาะสมและต้องคำนึงความแข็งแรงคงทนเป็นพิเศษในบริเวณจุดเชื่อมต่อต่างๆ โดยเฉพาะกับรอยต่อที่สำคัญอย่าง “เสาเหล็กกับผนังก่ออิฐ” ซึ่งเพียงแค่รู้แนวทางการก่อสร้างเบื้องต้นให้ถูกต้อง งานโครงสร้างเหล็กก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับวัสดุก่อผนังอื่นๆ ได้อย่างหลากหลาย ให้ดีไซน์โมเดิร์น และแน่นอนว่าให้ความแข็งแรงปลอดภัยหายห่วง


เชื่อมเหล็กหนวดกุ้งทุกระยะ เพิ่มการยึดเกาะ

สิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นพิเศษในงานผนังของบ้านโครงสร้างเหล็ก คือการเชื่อมเหล็กเส้น (หนวดกุ้ง) กับเสาเหล็กให้สม่ำเสมอ เพื่อให้อิฐเกาะกับเสาเหล็กได้อย่างแข็งแรง โดยนำเหล็กหนวดกุ้งที่มาจากเหล็กเส้นกลมขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 6 มม. ตัดความยาวประมาณ 30 – 40 ซม. เชื่อมที่เสาในแนวก่ออิฐทุกๆ ระยะ 30 ซม. เพื่อเพิ่มพื้นที่ยึดเกาะ โดยก่ออิฐให้ชนเสมอขอบปีกเสาและริมคานด้านนอกในกรณีที่เสาใหญ่กว่าผนังและต้องการให้เห็นเสาจากด้านใน หรือสามารถก่ออิฐให้ชิดริมเสาด้านในก็ได้ตามความต้องการของผู้ออกแบบ


ป้องกันผนังซึมน้ำด้วยวัสดุเสริม

นอกจากการเชื่อมเหล็กหนวดกุ้งขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 6 มม. กับเสาเหล็กดังเช่นรูปแบบแรก สามารถเน้นเพิ่มการป้องกันผนังซึมน้ำให้มากขึ้นได้ด้วยการเสริมวัสดุบริเวณแนวรอยต่อ ซึ่งสามารถทำได้ 2 รูปแบบ ได้แก่ แบบที่ 1 ใช้วิธีการเซาะร่องปูนฉาบข้างแนวเสาและยาแนวซิลิโคนโดยตลอด วิธีนี้จะช่วยป้องกันความชื้นเข้าสู่ภายในตัวอาคารได้ดียิ่งขึ้น และยังเป็นวิธีที่ทำได้ง่ายอีกด้วย และแบบที่ 2 สามารถเลือกใช้เป็นฉากอลูมิเนียม ฝังซ่อนในผนังแทนการใช้ซิลิโคนได้ โดยเทคนิคนี้ก็จะช่วยป้องกันน้ำซึมจากผนังภายนอกเข้าสู่ภายในตัวอาคารได้เช่นกัน


ครอบคลุมทุกปัญหา ป้องกันได้ดียิ่งขึ้น

เพื่อการป้องกันและแข็งแรงยิ่นขึ้นสามารถใช้เทคนิคต่างๆ ร่วมกันได้ เพื่อตอบโจทย์ทั้งการยึดเกาะระหว่างวัสดุ ป้องกันการซึมน้ำ และลดรอยแตกร้าวจากการเขยื้อนของผนัง โดยการเชื่อมเหล็กหนวดกุ้งขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 6 มม. กับเสาตามกำหนด ยาแนวซิลิโคน และฝังซ่อนฉากอลูมิเนียมในผนังด้วย ซึ่งสามารถเลือกทำรอยต่อในลักษณะนี้ในโครงการที่ต้องการการป้องกันเป็นพิเศษ โดยไม่ว่าจะจบรอยต่อในรูปแบบใดก็ล้วนให้ความคงทนแข็งแรงเช่นกัน เพียงแต่สามารถเลือกเทคนิคต่างๆ กันได้ตามงบประมาณการก่อสร้างที่เหมาะสม


ไม่ต้องการโชว์เสา ก็ทำได้

สำหรับในกรณีที่ไม่ต้องการโชว์เสาเหล็กก็สามารถใช้วิธีฉาบปูนทับเสาได้ โดยต้องสลัดปูนที่ผสมน้ำยาประสานคอนกรีต ให้ทั่วที่ผิวเสาทั้งด้านนอกและในร่องเสาและคาน เพื่อให้ปูนฉาบสามารถยึดเกาะกับผิวของเหล็กได้ ซึ่งต้องป้ายปูนฉาบก่อนที่จะทำการปูตะแกรงลวดปิดทับเพื่อให้ตะแกรงแทรกอยู่ในเนื้อปูนฉาบ โดยควรปูทับที่รอยต่อระหว่างผนังอิฐกับเหล็ก เพื่อช่วยเสริมแรงให้ผนังปูนฉาบแข็งแรงและป้องกันการแตกร้าวได้ดี การปิดตะแกรงลวดที่เสาและคานควรปิดให้ครอบคลุมทั้งผิวเหล็กและให้เลยออกจากแนวรอยต่อไปอย่างน้อย 10 ซม. ซึ่งควรปิดตะแกรงลวดที่มุมเสาทั้งด้านนอกและด้านในห้อง รวมทั้งที่มุมผนังห้องด้านในด้วย สำหรับบริเวณพื้นที่ว่างในร่องเสาควรก่อเรียงอิฐให้เต็มร่อง และเมื่อเตรียมผนังแล้วเสร็จสามารถทำการฉาบปิดผนังให้เรียบร้อยได้ตามปกติ


บ้านเย็นขึ้น ด้วยการก่อผนังสองชั้น

โดยปกติเราสามารถเลือกก่อผนังให้ชนเสา หรือ Offset แนวผนังเข้าไปชิดด้านในก็ได้ตามความสวยงาม แต่ก็ยังมีปัญหาเรื่องความร้อนจากแสงแดดซึ่งสามารถถ่ายผ่านผนังบางๆ เข้าสู่ภายในบ้านได้โดยตรง ดังนั้นการก่อผนัง 2 ชั้นจึงช่วยลดปัญหาความร้อนจากผนังได้เป็นอย่างดี โดยในผนังชั้นแรกให้ก่อชิดริมขอบนอกของเสา จากนั้นให้เว้นระยะห่างอย่างน้อยประมาณ 5 เซนติเมตรจึงเริ่มก่อผนังด้านใน เพื่อให้เกิดช่องว่างระหว่างอิฐแบบพอเหมาะ ซึ่งช่องว่างนี้เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยป้องกันไม่ให้ความร้อนจากผนังชั้นนอกเข้าสู่ผนังชั้นในโดยเฉพาะในผนังด้านที่ได้รับแสงแดดโดยตรง และนอกเหนือจากการป้องกันความร้อนการก่อผนังสองชั้นก็ยังช่วยป้องกันเสียงรบกวนระหว่างห้องได้เป็นอย่างดี