งานรอยต่อโบลท์แอนด์นัทที่ดี เป็นอย่างไร หรือ คำนวณอย่างไร

วิธีการโดยทั่วไปของการติดตั้งอาคารเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน มีอยู่ 2 วิธี คือการเชื่อม กับการใช้การขันโดยโบลท์แอนด์นัท โดยหลักการทั่วไปของการทำรอยต่อเหล็ก ก็คือเรื่องการคำนึงถึงความแข็งแรง และตรงตามที่วิศวกรคำนวณมาอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง เพื่อให้อาคารใดๆ นั้นไม่ก่อให้เกิดปัญหาหลังการก่อสร้าง เช่นเดียวกับรอยต่อโบลท์แอนด์นัท ที่จำเป็นต้องขันโบลท์ให้แน่น ได้มาตรฐาน ถูกตำแหน่ง และตรงตามการคำนวณของวิศวกร

ทั้งนี้ การจะทำงานรอยต่อโบลท์แอนด์นัทที่ดีได้นั้น มีข้อคำนึงที่สำคัญอยู่บางประการ โดยอาจแบ่งได้เป็น 2 เรื่อง คือ 1. เรื่องการเจาะรอยต่อ และ 2. เรื่องของการประกอบ

1. การเจาะรอยต่อ 

รอยต่อโบลท์นัทที่ดี สำคัญอย่างมากว่าขึ้นอยู่กับคุณภาพการเจาะรอยต่อที่ดี โดยการเจาะที่ดีนั้น ก็จะเกี่ยวข้องกับการทำแบบ Shop Drawing ที่ไม่ผิดพลาด และเจาะตามแบบได้ไม่ผิดพลาดเช่นเดียวกัน คือ  ไม่เจาะให้รูเล็กเกินไป หรือใหญ่เกิดขนาด ไม่เจาะเบี้ยวไม่ได้มาตรฐาน หรือเจาะคลาดเคลื่อนจากตำแหน่งตามแบบ ก็จะส่งผลต่องานประกอบโบลท์นัทที่ไม่สามารถทำงานต่อได้

2. การประกอบ 

เมื่อได้รอยต่อที่ดีมาแล้ว การประกอบก็จะขึ้นอยู่กับผู้ก่อสร้าง ที่จะใช้การวางแผนการก่อสร้างและเครื่องมือประกอบ รวมถึงตรวจเช็คไม่ให้เกิดความผิดพลาด เช่น ใช้โบลท์ที่ตรงตามขนาดการรับน้ำหนักที่ได้คำนวณมาแล้วอย่างไม่ผิดพลาด รวมถึงตรวจเช็คด้วยเครื่องมืออย่าง ประแจ Torque ว่ารอยต่อนั้นๆ ถูกยึดตามที่แรงที่ถูกต้องแล้วโดยไม่หละหลวม

กระบวนการทั้งหมดนี้ ย่อมดำเนินไปได้อย่างเป็นมาตรฐานจากการส่งต่องานกันจากฝ่ายต่างๆ ทั้งการวางแผนการแบ่งชิ้นส่วนเหล็ก ให้ง่ายต่อการขนส่งและการก่อสร้าง การทำแบบ Shop Drawing เพื่อส่งต่อให้โรงงาน แต่ที่สำคัญ ขั้นตอนนี้ย่อมต้องดำเนินตามขั้นตอนการคำนวณ ซึ่งเป็นหน้าที่ของวิศวกรโครงสร้างที่จะเป็นผู้กำหนดค่าการรับแรงในแต่ละรอยต่อต่างๆ ให้แข็งแรงและไม่วิบัติ จากนั้นจึงเป็นขนาดของโบลท์และรอยต่อว่าควรมีขนาดเท่าใด เพื่อใช้รับแรงเท่าใด

หรือกล่าวอีกอย่างว่ารอยต่อโบลท์แอนด์นัทที่ดีนั้น ก็ขึ้นอยู่กับการคำนวณการรับแรงขนาดรอยต่อ และขนาดโบลท์ในแต่ละจุดจากวิศวกรที่ไม่ผิดพลาดเป็นข้อแรก ต่อมาจึงเป็นหน้าที่ของผู้ปฏิบัติงาน หรือผู้รับเหมาก่อสร้าง ที่จะใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ให้สอดคล้องกับขนาดโบลท์นั้นๆ เพื่อขันให้ได้ตามกำลังแรงที่เหมาะสมกับโบลท์เพื่อให้แน่นหนาที่สุด ที่จะทำให้รอยต่อแต่ละรอยได้มาตรฐานและรับแรงได้ตามที่ควรจะเป็น

อย่างไรก็ตาม หากว่ากันโดยรายละเอียดมากกว่านั้น การทำรอยต่อที่มีคุณภาพนั้นควรคำนึงไว้ว่า ทำการเชื่อมรอยต่อให้เสร็จสิ้นในโรงงานให้มากที่สุดก่อน ลดการเชื่อมรอยต่อที่หน้างานให้น้อยที่สุด ก็จะทำให้ได้งานก่อสร้างโครงสร้างเหล็กที่มีคุณภาพมากขึ้น ซึ่งนั่นหมายถึง การปฏิบัติงานในโรงงานที่มีคุณภาพ และทำให้โครงสร้างเป็นแบบ Pre-Fabrication ก่อนนำไปยึดโบลท์แอนด์นัทที่หน้างาน ก็ย่อมทำให้ได้งานที่ดีมากกว่าการปฏิบัติงานที่เชื่อมหน้างานเพียงอย่างเดียวนั่นเอง