อยากมีบ้านสักหลัง ต้องเริ่มจากอะไร

การปลูกบ้านสักหลังในแบบที่ชอบคงเป็นความฝันของใครหลายๆ คน เพราะนอกจากจะได้บ้านที่ถูกใจทั้งรูปลักษณ์ภายนอกแล้ว ฟังก์ชั่นภายในก็ถูกสัดส่วนและเหมาะสม ซึ่งการเลือกปลูกบ้านเองนั้นย่อมมีขั้นตอนและข้อควรพิจารณามากกว่าการซื้อบ้านจัดสรร และสำหรับมือใหม่ที่ต้องการสร้างบ้าน หรือซื้อมาเพื่อรีโนเวท เรามีขั้นตอนต่างๆ เพื่อเป็นแนวทางในการเตรียมตัวก่อนจะสร้างบ้านในฝันมาฝากกัน


1.การจัดหาที่ดิน

ไม่จำเป็นต้องเป็นที่ดินแปลงใหม่ อาจจะเป็นพื้นที่ในเขตที่ดินเดิมของบ้านคุณพ่อคุณแม่หรือที่มรดก แต่หากจำเป็นต้องซื้อที่ดินใหม่อย่าลืมพิจารณาปัจจัยต่างๆ เช่น การเดินทางไปทำงานหรือโรงเรียนของลูก สภาพแวดล้อม สถานที่สำคัญต่างๆ เพื่อนบ้าน ไปจนถึงไลฟ์สไตล์ของคุณ หรือหากกรณีเป็นการซื้อบ้านมือสองอย่าลืมตรวจสอบรอยร้าว ระบบไฟฟ้าและน้ำประปาเบื้องต้น เพื่อเป็นข้อมูลในการพูดคุยกับสถาปนิกและผู้รับเหมา


2.เลือกสถาปนิก 

สถาปนิกแต่ละคนก็มีสไตล์การทำงานและความถนัดเฉพาะด้านแตกต่างกันไป แนะนำว่าให้ลองดูผลงานของสถาปนิกหลายๆ เจ้าก่อนแล้วจึงพิจารณาว่าสไตล์การออกแบบของสถาปนิกคนไหนตรงกับความชอบของคุณมากที่สุด เนื่องจากระยะเวลาการออกแบบจนถึงก่อสร้างกินเวลาอย่างต่ำ 1 ปี หลายกรณีที่ทั้งเจ้าของบ้านและสถาปนิกกลายเป็นเพื่อนสนิทกันไปก็มี ดังนั้นนอกจากความถนัดในการออกแบบของสถาปนิกที่คุณเลือกแล้ว ลักษณะนิสัยที่สามารถสื่อสารกันรู้เรื่องและเป็นมิตร ก็เป็นหนึ่งข้อพิจารณาสำคัญเช่นกัน


3. สำรวจความต้องการของตนเองและครอบครัว

ก่อนจะพูดคุยกับสถาปนิกเพื่อเริ่มขั้นตอนการออกแบบ ลองนำความชอบและไลฟ์สไตล์ของคนในครอบครัวมาร่วมพิจารณาว่าแต่ละคนต้องการอะไรบ้าง ซึ่งหากนึกไม่ออกว่าตัวเองชอบสไตล์แบบไหน ก็อาจนึกถึงวัสดุที่ชอบเป็นจุดเริ่มต้นก่อนก็ได้ เช่น หากคุณชอบเหล็กและปูนเปลือย สไตล์ที่คุณชอบอาจเป็นสไตล์ลอฟต์ เป็นต้น แต่หากขั้นตอนนี้คุณมีไอเดียแต่ไม่สามารถสื่อสารออกมาได้อย่างใจ สถาปนิกที่คุณปรึกษาจะมีวิธีสอบถามและสังเกตุความชอบและความต้องการในการใช้พื้นที่ต่างๆ ภายในบ้านของคุณออกมาอยู่แล้ว รวมไปถึงสถาปนิกจะแนะนำเพิ่มเติมถึงรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เพื่อให้บ้านคุณสมบูรณ์ยิ่งขึ้น


4. ร่วมทำการออกแบบกับสถาปนิกและวิศวกร  

ถึงแม้ว่าสถาปนิกจะออกแบบเพื่อสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับคุณ แต่ก็ถือเป็นเรื่องจำเป็นที่เจ้าของบ้านต้องตรวจแบบเองทุกครั้งที่สถาปนิกเสนอ รวมไปถึงแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา เช่น ขอเปลี่ยนจากพื้นปูนธรรมดาเป็นไม้ที่คุณสะสมไว้อยู่แล้ว หรืออยากได้ห้องนอนที่ดูยื่นออกไปจากตัวบ้านมากๆ เพื่อที่สถาปนิกจะได้ปรับแบบและนำแบบไปปรึกษาวิศวกรโครงสร้างเพื่อออกแบบให้สามารถตอบโจทย์นั้นๆได้ หรืออาจต้องเปลี่ยนจากโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กเป็นโครงเหล็กในบางส่วน เป็นต้น


5. ร่วมแก้ปัญหาและแนวทางในการก่อสร้าง  

ปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการก่อสร้างถือเป็นเรื่องปกติที่ต้องพบเจอตั้งแต่ปัญหาทั่วไป เช่น ผู้รับเหมาสั่งวัสดุมาเกิน คนงานลากระทันหันไปจนถึงฝนตกหนักจนงานไม่สามารถเสร็จได้ทันกำหนด ทั้งนี้ไม่ว่าปัญหาจะเป็นเหตุสุดวิสัยหรือความผิดพลาดก็ต้องช่วยกันแก้ปัญหาอย่างใจเย็น เช่นกรณีที่สั่งวัสดุมาเกิน อาจนำไปใช้ในการออกแบบส่วนอื่น หรือนำไปขายต่อ เพื่อให้กระทบต่องบประมาณให้น้อยที่สุด


6.ทำความสะอาดและการเก็บงาน  

เมื่อบ้านสร้างเสร็จแล้วผู้รับเหมาหลายๆราย จะเก็บเศษวัสดุก่อสร้างและทำความสะอาดหน้างานไว้เรียบร้อยประมาณหนึ่ง แต่หากคุณอยากได้ในระดับที่สะอาดพร้อมอยู่อาศัยแนะนำว่าให้จ้างบริษัททำความสะอาดโดยเฉพาะจะดีที่สุด เนื่องจากบริษัทเหล่านี้จะช่วยกำจัดกลิ่นสี คราบเปื้อนต่างๆ รวมทั้งไรฝุ่นอย่างมืออาชีพและมีเครื่องมือเฉพาะงานมากกว่าผู้รับเหมานั่นเอง


7. การตรวจรับบ้าน 

การตรวจรับบ้านถือเป็นด่านสุดท้ายก่อนที่บ้านจะพร้อมเข้าอยู่อาศัย แต่ถึงอย่างนั้นขั้นตอนนี้ก็มักจะสร้างความกังวลสำหรับเจ้าของบ้านมือใหม่อยู่ไม่น้อย แนะนำว่าให้ทำเช็คลิสต์ไปตั้งแต่ก่อนออกจากบ้าน ไล่ไปทีละระบบตั้งแต่เรื่องน้ำประปาว่าไหลสะดวกทุกก๊อกและทุกสุขภัณฑ์หรือไม่ ระบบสุขาภิบาล การระบายน้ำของท่อต่างๆ รวมถึงระบบซักโครก ระบบไฟฟ้า ตรวจเช็คหลอดไฟ สายไฟและปลั๊กทั้งใน-นอกบ้าน และส่วนอื่นๆ คือ พื้น ฝ้าและกำแพง ตรวจดูเรื่องรอยร้าวและความสะอาดเป็นสำคัญ หากพบว่ายังมีจุดใดไม่ได้มาตรฐานให้แจ้งผู้รับเหมาเพื่อดำเนิการแก้ไขก่อนจะเซ็นรับมอบบ้านทุกครั้ง